Meeting Space Pavilion สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ
Share this :


Meeting Space Pavilion
สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ



ในปัจจุบัน คนเราไม่ได้พบปะกันเพียงแค่การนั่งเผชิญหน้าอีกต่อไป โลกออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์คทำให้เราสามารถคุยกันแบบเห็นหน้าได้โดยไม่ต้องเดินไปหากัน แชร์เรื่องราวให้เพื่อนรู้โดยไม่ต้องมานั่งจับกลุ่มคุยกันอีกต่อไป เราสามารถคุยกับเพื่อนในโลกความจริงและในออนไลน์ได้พร้อม ๆ กัน สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง




'สุริยะ อัมพันศิริรัตน์' สถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท Walllasia ที่มีผลงานออกแบบเอกลักษณ์เฉพาะ แฝงปรัชญาเรียบง่ายตามวิถีพุทธ งานออกแบบของเขาได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมทั้งในและต่างประเทศ ผลงานที่สร้างชื่อที่เป็นเหมือนลายเซ็นของเขาคือ วัดเขาพระพุทธโคดม จังหวัดชลบุรี ด้วยแนวคิดการเชื่อมโยงกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว นำมาเรียบเรียงในรูปลักษณ์เรียบง่าย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้งานให้เข้ากับธรรมชาติ และเมื่อได้รับโจทย์ให้ออกแบบ Pavillion สำหรับนิทรรศการหลักของงานสถาปนิก '61 ด้วยไม้ไผ่ จึงทำให้เกิดผลงานที่ชื่อว่า Meeting Space Pavilion ด้วยการนำ 'ไผ่' มาพิจารณาว่า โดยธรรมชาติแล้วสามารถทำอะไรได้บ้าง ก่อนตัดสินใจดีไซน์ดัดโค้งเป็นรูปทรงดอกบัวเพื่อให้ดูมีพลัง



Meeting Space Pavilion ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิดการรวมสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ไว้ด้วยกัน โดยให้ไม้ไผ่ที่เป็นวัสดุธรรมชาติพื้นถิ่นของไทยที่ใช้กันมาอย่างยาวนานเป็นตัวแทนของสิ่งเก่า และให้กิจกรรมทางสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้นภายในศาลานี้เป็นสิ่งใหม่ ศาลาไม้ไผ่หลังนี้อาจเป็นที่นั่งรอธรรมดาถ้าอยู่ในยุคก่อนที่ยังไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่เพราะในปัจจุบันทั้งโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว กิจกรรมในศาลาจึงแตกต่างออกไป ด้วยเหตุนี้ นิทรรศการ The superimposed layers on the contemporary public space ของสุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ในงานสถาปนิก '61 จึงแสดงถึงการซ้อนทับของกิจกรรมทางสังคมบนพื้นที่สาธารณะของเมือง ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ในการประยุกต์ใช้พื้นที่แบบผสมผสาน จากอดีตที่เป็นการผสมผสานของกิจกรรมบนพื้นที่ทางกายภาพหลากหลายแบบ ปัจจุบันมีมิติของการซ้อนทับของกิจกรรมบนโลกออนไลน์เกิดขึ้นบนพื้นที่สาธารณะ นิทรรศการนี้ตั้งคําถามถึงการปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์, โลกเสมือนจริง (AR) และพื้นที่ทางกายภาพ ด้วยความสงสัยว่า ทั้ง 3 พื้นที่นั้นจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร และจะทําให้บทบาทพื้นที่สาธารณะของเมืองเปลี่ยนไปอย่างไร โดยนิทรรศการนี้จะถูกแสดงผ่านเทคนิค VR (Virtual Reality)



--------------------------------
คุยกันต่อได้ที่
BLOG : PERFECT WORKING SOLUTION


กรอกข้อมูลเพื่อรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ กับ PERFECT WORKING SOLUTION ได้ที่นี่ คลิก