คน ออฟฟิศ เฟอร์นิเจอร์
Share this :

เคยมีคนกล่าวว่า...

 

“You cannot understand good design if you do not understand people ; Design is made for people.”

"...คุณจะเป็นนักออกแบบที่ดีไม่ได้หากคุณยังไม่เข้าใจมนุษย์
เพราะว่าการออกแบบเป็นการทำมาเพื่อมนุษย์..."


นักออกแบบที่ดีต้องเข้าใจมนุษย์ เพราะทุกสิ่งที่ออกแบบก็เพื่อมนุษย์ เช่น การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ก็ต้องเข้าใจการทำงาน พฤติกรรมการใช้สอย
ซึ่งมีความแตกต่างกันตามหน้าที่การทำงาน เพราะการออกแบบที่ดีจะส่งผลต่อการทำงานที่เกิดประสิทธิภาพด้วย


    การออกแบบออฟฟิศเฟอร์นิเจอร์นั้นต้องเริ่มศึกษากันตั้งแต่พฤติกรรมการนั่ง การยืน การทำงาน ว่ามีลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร ซึ่งเรียกว่าเป็นกระบวนการศึกษาพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ รวมไปถึงสัดส่วนที่เหมาะสมในการใช้งานด้วย ซึ่งผมก็มีสัดส่วนมาตรฐานของออฟฟิศคร่าว ๆ มาสรุปให้ ดังนี้

- มาตรฐานของเก้าอี้ออฟฟิศ หากวัดจากขนาดรวมทั้งหมด (รวมขาและล้อ) 72 * 72

     **แต่หากวัดเฉพาะเบาะและพนักพิงหลัง 50 * 55 โดยเมื่อรวมพนักพิงจะยาวกว่าด้านกว้าง

- มาตรฐานของโต๊ะออฟฟิศ ใหญ่ 100 * 60 / 120 * 60 / 160 * 60 ซม.

- มาตรฐานของตู้เอกสาร 45 - 40 * 80 ซม.

- โต๊ะประชุม 120 / 150 / 180 / 200 / 240 * 90 -100 ซม.

     ***หมายเหตุ มาตรฐานนี้สำหรับ มอก. ภายในประเทศไทยเท่านั้น

       ว่าด้วยเรื่องของความสัมพันธ์ของ คน เฟอร์นิเจอร์ ออฟฟิศ ก็เป็นสิ่งสำคัญ สัดส่วนเป็นตัวกำหนดเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศ มาตรฐานสัดส่วนของสิ่งเหล่านี้เป็นเคล็ดลับของดีไซเนอร์ที่ทำให้การนั่ง หรือใช้งานได้สะดวกสบาย และส่งเสริมบริบทในการทำงานได้ดี จึงมีมาตรฐานของเฟอร์นิเจอร์ที่กำหนดประมาณนี้

       เมื่อทราบสัดส่วนมาตรฐานของออฟฟิศเฟอร์นิเจอร์แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างนึงนั่นก็คือ การศึกษาพฤติกรรมการทำงานครับ การทำงานแบบไหนท่ี่ช่วยส่งเสริมการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ ก็เป็นหน้าที่ของนักออกแบบที่จะต้องหาวิธีการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้ ซึ่งผมขอให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงานทั่ว ๆ ไปของผู้ใช้ดังนี้ครับ


ความลึกและความกว้างของโต๊ะพิจารณาจาก

1. พื้นที่ทำงานใกล้ตัวที่เหมาะสม

       สามารถหาได้ง่ายโดยการวาดมือไปบนโต๊ะขณะที่ศอกชิดลำตัวเป็นรูปครึ่งวงกลม (ดังภาพที่1) ระยะจากศอกถึงบริเวณข้อนิ้วที่เมื่อกำมือแล้วหยิบของได้พอดี จะยาวประมาณ 35-45 ซม. เมื่อวาดเป็นครึ่งวงกลมจะได้ระยะเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 70-90 ซม. เมื่อรวมระยะเส้นผ่าศูนย์กลางของครึ่งวงกลม ของแขนอีกข้าง รวมกับระยะที่ทับซ้อนด้วย จะได้ระยะทำงานใกล้ตัวประมาณ 100-130 ซม. ตามที่ได้กล่าวมาว่า ระยะที่เอื้อมจะให้ใช้ระยะของคนตัวเตี้ย จึงใช้ค่าน้อยเป็นหลัก ดังนั้นระยะทำงานหลักของพื้นที่ทำงานใกล้ตัวจะประมาณ 100 ซม. ส่วนความ ลึกนั้น เมื่อหักจากการที่ข้อศอกไม่ได้วางอยู่บนโต๊ะโดยตรง จะเหลือระยะในพื้นที่ที่ทำงานในส่วนลึกประมาณ 25 ซม.
 

 
2. พื้นที่ครึ่งวงกลมสำหรับหยิบเอื้อม

       เป็นพื้นที่ถัดไป แนวพื้นที่จะเป็นรัศมีของแขนที่เหยียดยาวออก (ดังภาพที่1) ในทำนองเดียวกับข้อ 1 แต่เปลี่ยนมา เป็นระยะที่เหยียดแขน จะทำให้ความกว้างของโต๊ะประมาณ 160 เซนติเมตร และมีความลึกที่ 50 เซนติเมตร

3. ความกว้างและลึกของโต๊ะ

       อาจมีขนาดเพิ่ม จากขนาดที่กล่าวตามข้อ 1 และ 2 แต่ต้องเข้าใจว่าพื้นที่ ที่เพิ่มขึ้นมานั้นก็เพื่อการวางของ

4. การเพิ่มพื้นที่เพื่อเพิ่มความสะดวกต่อการหยิบและการใช้งาน

       สามารถทำได้โดยออกแบบให้โต๊ะทำงานอยู่ในรูปตัว L ซึ่งผู้ใช้สามารถที่จะหมุนเก้าอี้ และหยิบของบนพื้นที่ของโต๊ะได้ง่าย


การจัดวางของบนโต๊ะ

       อุปกรณ์ เช่น เมาส์ แป้นพิมพ์ โทรศัพท์ ปากกา ดินสอ และอุปกรณ์สำนักงานอีกหลายชนิด เป็นอุปกรณ์ ที่ใช้บ่อย การจัดวางอุปกรณ์ที่ใช้บ่อยมีหลักการง่าย ๆ ดังนี้ (ภาพที่ 2)

 
 

1. ของที่ใช้งานบ่อยควรอยู่ในพื้นที่ทำงานใกล้ตัว
      เช่น พนักงานรับโทรศัพท์ ต้องรับโทรศัพท์ตลอดเวลา ตำแหน่งของโทรศัพท์ควรอยู่ในพื้นที่ทำงานนี้

2. หากอุปกรณ์นั้นมีน้ำหนักเบาและใช้บ่อย แต่ไม่ถึงขนาดบ่อยมาก
       เช่น ปากกา และอุปกรณ์สำนักงานบางอย่าง อาจวางไว้ในพื้นที่ครึ่งวงกลมหยิบเอื้อมได้ โดยไม่ต้องลุกยืนเพราะเวลาจะใช้สามารถเอื้อมหยิบได้โดยไม่มีผลกระทบต่อกล้ามเนื้อและข้อต่อไหล่

3. อุปกรณ์ที่หนักแม้ไม่ใช้บ่อย

       ควรอยู่บริเวณพื้นที่ใกล้ขอบโต๊ะซ้ายหรือขวาใกล้ตัวผู้ใช้ไม่ควรให้อยู่ ลึกเข้าไปบนโต๊ะ เพราะการเอื้อมหยิบของหนักมีผลทำให้ไหล่ต้องทำงานหนัก และแรงกดต่อหมอนรองกระดูกสันหลังมากขึ้น ดังนั้นเวลาจะหยิบใช้สามารถลุกขึ้นยืนหรือเลื่อนเก้าอี้เข้าใกล้ซึ่งจะสะดวกแก่การหยิบได้

4. ของที่เบาแต่ขนาดใหญ่สามารถวางไว้บนส่วนลึกด้านในของโต๊ะได้

       เพราะการเอื้อมหยิบสามารถทำได้ โดยมีผลต่อไหล่และหลังไม่มากนัก

5. การจัดวางควรให้เหมาะกับลำดับของการทำงาน

       เช่น ถ้าต้องอ่านแล้วพิมพ์หรือเขียน ให้วางงานที่ต้องอ่านไว้ด้านซ้าย และอุปกรณ์ที่ใช้เขียนหรือพิมพ์ อยู่ตรงกลาง เพราะลักษณะของภาษาไทยต้องอ่านจากซ้ายมาขวา เวลาเขียนหรือพิมพ์ ก็จากซ้ายมาขวาเช่นกัน

6. วางอุปกรณ์ตามการใช้งานของมือ

       เช่น ถ้าใช้มือขวาเป็นหลัก อุปกรณ์ในการเขียน โทรศัพท์ อุปกรณ์ที่ใช้มือขวา ควรวางไว้ด้านขวา


การจัดวางของบนชั้นหรือตู้

บนชั้นหรือตู้ ที่ใช้เก็บของหรือเอกสารในการทำงาน ก็มีความสำคัญในการจัดวางเช่นกัน โดยพิจารณาได้ ดังนี้ (ภาพที่2)

1. ความสูงของชั้นต้องถูกออกแบบสำหรับคนตัวเตี้ย เพราะตำแหน่งที่คนตัวเตี้ยเอื้อมถึง คนตัวสูงก็เอื้อมถึงเช่นกัน ถ้าต้องใช้บันไดจะมีผลเรื่องของความปลอดภัยและไม่สะดวกในการทำงาน

2. ของที่ใช้บ่อยควรวางในชั้นที่มีความสูงที่ระดับเอวถึงระดับสายตา

3. ของที่มีน้ำหนักมากควรอยู่ในชั้นระดับเอวหรือ ต่ำกว่านั้นลงมาเล็กน้อยแต่ไม่ต่ำกว่าระดับกำปั้นในขณะกำมือยืนตรงแขนอยู่แนบกับลำตัวหรือถ้าหนักมาก ๆ จนไม่สามารถยกได้ ก็ให้อยู่ในระดับต่ำสุด เพื่อสะดวกต่อการดึงลาก

4. ของที่น้ำหนักเบาอาจไว้ในชั้นบนสุดได้


       การจัดวางของบนโต๊ะและบนชั้น มีผลต่อการทำงาน ประสิทธิภาพของการทำงาน ตลอดจนปัญหาการบาดเจ็บจากการทำงาน เมื่อจัดวางตามที่ได้แนะนำแล้วพึงระลึกเสมอว่าอย่าได้ประมาท ให้ยกของเอื้อมหยิบของอย่างระมัดระวังจะทำให้ปัญหาการบาดเจ็บจากการทำงานห่างไกลจากคุณ 
 

       ความสุขสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกชั่วขณะการทำงาน อาจจะเป็นความสุขพอสังเกตที่เกิดจากการทำงานที่เรารัก หรือบรรยากาศของการทำงานที่ส่งผลต่อจิตใจ รวมไปถึงเพื่อนร่วมงานที่น่ารัก ก็เป็นได้ เพราะความสุขของคนเรานั้นอยู่รอบตัวเราเพียงแค่เราพอใจกับเวลาปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เล็กหรือสิ่งที่ใหญ่ก็ตาม



--------------------------------

คุยกันต่อได้ที่

Facebook : Perfect working solution

Youtube : PERFECT Group

Blog : Perfect Working Solution

กรอกข้อมูลเพื่อรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ กับ Perfect working solution ได้ที่นี่ คลิก