ไอเดียสร้าง portfolio ง่ายๆ
สไตล์นักออกแบบ
Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงาน เป็นด่านแรกที่ฝ่ายคัดสรรบุคลากรของบริษัทต่าง ๆ จะดู และตัดสินว่าเรานั้นเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่ยื่นสมัครเข้าไปหรือไม่ การทำ Portfolio ให้น่าสนใจถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะสายงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมหรือตกแต่งภายในที่จำเป็นที่จะต้องมี Portfolio เพื่อแสดงผลงานศักยภาพในการทำงาน และความคิดในการออกแบบของคุณให้เห็นอย่างเด่นชัดที่สุด
Portfolio ของคุณสามารถบอกนายจ้างถึงสไตล์ในการทำงานของคุณได้
- คุณเป็นเป็นนักจัดการหรือไม่ ?
- คุณเข้าใจกระบวนการของโครงการคุณเองไหม ?
- คุณเป็นใครในฐานะนักออกแบบ ?
ต่อไปนี้เราจะมาพูดถึงกระบวนการสร้าง portfolio ให้น่าสนใจ และโดดเด่น
เป็นข้อมูลจากที่ปรึกษาด้านการสรรหาบุคลากรที่น่าเชื่อถือ และได้รับความไว้วางใจ
1. ควรกำหนดโครงสร้างของผลงาน
Portfolio ของคุณควรมีโครงสร้างให้สอดคล้องกับบทบาทของงานที่คุณต้องการ เช่น งานที่คุณต้องการคือ งานออกแบบ โครงสร้างผลงานใน Portfolio ของคุณก็ควรเน้นไปที่การออกแบบเป็นหลัก สื่อไอเดีย และแนวคิดของคุณออกมาอย่างชัดเจน ให้พวกเขาเห็นถึงความโดดเด่นตั้งแต่เปิด Portfolio หน้าแรกของคุณ

1.1 ผลงานที่เกี่ยวข้องต้องมาก่อน
การเรียงลำดับผลงานใน portfolio ที่ดีต้องวางผลงานที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่เราต้องการสมัครก่อนเป็นอันดับแรกๆ ให้ผู้พิจารณาได้ทราบว่าเรามีความสามารถเหมาะสมกับงานนั้นอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นก็เป็นผลงานล่าสุดที่แสดงความสามารถของคุณและผลงานอื่นๆ ตามลำดับ ไม่จำเป็นต้องเรียงตามเวลา แต่ให้เรียงตามลำดับความสำคัญ เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาและการมองเห็นความสามารถได้อย่างเด่นชัด
1.2 เพิ่มความพิเศษโดยทำ portfolio เป็น 2 ไฟล์
- ไฟล์ผลงานแรก = ให้เปรียบ portfolio นี้เป็นเหมือนตัวอย่างหนัง ที่แสดงผลงานที่ดึงดูด และน่าสนใจให้คนเข้าชม จำนวนหน้าไม่เยอะมากประมาณ 5-10 หน้า พร้อมกับจดหมายสมัครงาน และ CV ของคุณ portfolio ที่น่าสนใจจะช่วยให้คุณผ่านเข้ารอบถัดไป คือ รอบสัมภาษณ์นั่นเอง
- ไฟล์ผลงานที่สอง = คือสิ่งที่คุณต้องนำเสนอในการสัมภาษณ์ นี่เป็นโอกาสของคุณในการนำเสนอทักษะเพิ่มเติมที่คุณมีอยู่ คุณต้องแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าสิ่งที่คุณนำเสนอไปในแฟ้มผลงานแรกนั้นคุณสามารถทำได้จริงในแฟ้มผลงานที่สองนี้
2. ควรเริ่มต้นจากตรงไหน ?

2.1 เลือกใช้โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ในการนำเสนอผลงานอย่างเหมาะสม- การใช้โปรแกรมในการสร้าง และนำเสนอผลงานได้อย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงทักษะในการนำเสนอของคุณได้เป็นอย่างดี ดังนั้นโปรแกรมที่ใช้ในการจัดทำผลงานจึงไม่จำเป็นต้องมีความซับซ้อนจนเกินไป เพราะสิ่งที่คุณต้องการโชว์คือผลงานการออกแบบ แต่ก็ไม่ใช่โปรแกรม Microsoft Word หรือ PowerPoint ที่ไม่ได้แสดงทักษะทางด้านการการออกแบบหรือความคิดสร้างสรรค์เท่าไหร่นัก โปรแกรมที่เราแนะนำให้คุณใช้เพื่อการจัดทำผลงานของคุณคือ Adobe InDesign
2.2 แบบอักษรที่เรียบง่าย
- ควรใช้แบบอักษรที่เรียบง่ายเข้าไว้ เช่น Arial หรือ Helvetica เพราะการทำให้ผู้อ่านอ่านง่าย และเข้าใจคือปัจจัยสำคัญในการสื่อสารด้วยตัวอักษร คุณอาจเห็นคนใช้ฟอนต์ Arial กันเยอะมาก นั่นเพราะว่า Arial เป็นฟอนต์พื้นฐานที่สามารถใช้งานกับคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ส่วนใหญ่ได้อย่างดี คุณจะไม่พบปัญหาเรื่องฟอนต์เมื่อนำไฟล์ของคุณไปเปิดในอุปกรณ์เครื่องอื่น บางคนอาจจะกังวลเรื่องความสวยงาม แต่อย่าลืมว่าคุณกำลังเสนองานด้านออกแบบ เพราะฉะนั้นจุดโฟกัสควรอยู่ที่ผลงานของไม่ใช่แบบอักษร
2.3 ตั้งชื่อไฟล์ให้ถูกต้องนั้นสำคัญ
- บางคนทำผลงานดีแต่ตกม้าตายเพราะ 'ชื่อไฟล์' ก็มีเยอะ ดังนั้นการตั้งชื่อไฟล์ของคุณอย่างถูกต้องจะช่วยให้คุณดูเป็นมืออาชีพ และทำให้ผู้คัดเลือกหาไฟล์ของคุณได้ง่ายขึ้น รูปแบบในการตั้งชื่อไฟล์ที่ดีคือ 'Firstname_lastname_company'
2.4 Compress portfolio (การบีบอัดไฟล์ก่อนส่ง)
- ฝ่ายคัดสรรบุคลากรคงไม่ประทับใจเท่าไหร่นัก ถ้าพบว่าพวกเขาได้รับอีเมล์ผลงานจากคุณคนเดียวถึงสิบฉบับ ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ไม่ประทับใจนี้ขึ้น สิ่งที่ควรทำคือการบีบอัดไฟล์ข้อมูลก่อนส่งผลงานที่มีจำนวนหลายหน้าของคุณ โดยการใช้โปรแกรม Adobe หรือบริการแปลงไฟล์ออนไลน์ฟรี
2.5 ทำผลงานแบบออนไลน์ดีหรือไม่ ?
- portfolio ออนไลน์มีประโยชน์หลายประการ เพียงแค่คลิกเดียวก็พร้อมใช้งานได้ทันที โดยไม่ต้องยุ่งยากกับขนาดไฟล์ขนาดใหญ่ แต่ถ้าคุณไม่มีพื้นฐานในการออกแบบ UX/UI คุณจะไม่สามารถควบคุมการเข้าใช้งานของผู้เข้าชมได้ พวกเขาอาจจะพลาดการชมผลงานที่สำคัญของคุณไป ดังนั้นในการสร้าง portfolio แบบออนไลน์ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าคุณทำได้ดีจริงหรือไม่
3. ใน Portfolio ควรมีเนื้อหาใดบ้าง ?

3.1 แสดงกระบวนการความคิด และการทำงานของคุณ
- ความคิดแรกเริ่มจากงานสเก็ตช์มือ
- ความคืบหน้าของขั้นตอนงาน (เช่น ภาพ Wire frame, ภาพหน้าจอการเขียนสคริปต์เชิง parametric)
- การแสดงผลที่เสร็จสิ้นแล้วสำหรับภาพรวมองค์ประกอบงาน
- เอกสารประกอบการก่อสร้างและรายละเอียด เพราะขั้นตอนการทำงานจะเป็นการแสดงให้ผู้สัมภาษณ์ทราบว่าผลงานนั้นออกมาจากคุณจริง
3.2 ลำดับความสำคัญ
- คุณควรให้ความสำคัญ และนำเสนอเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่คุณต้องการมากกว่าสิ่งอื่นใด
3.3 คำอธิบายประกอบที่กระชับและชัดเจน
- คำอธิบายประกอบควรกระชับได้ใจความ และควรสอดคล้องกับ CV รวมถึงภาพ และตัวอย่างโครงการต้องสัมพันธ์กับข้อมูลที่ได้ระบุไว้ในเรซูเม่ของคุณด้วย
4. จะเสนอผลงานในการสัมภาษณ์ได้อย่างไร ?
4.1 Softcopy or hardcopy?
คุณสามารถเลือกเสนอผลงานได้ตามความถนัดและรูปแบบที่ต้องการ
- หากคุณนำเสนอผลงานของคุณในรูปแบบ softcopy จงตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขามีคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สำหรับแสดงผลงานของคุณ เพราะไม่ใช่ทุกที่ที่จะเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้ ดังนั้นเพื่อความชัวร์คุณอาจจะโทรแจ้งพวกเขาล่วงหน้าว่าคุณจะนำเสนอผลงานในรูปแบบไหน หรือถ้าคุณนำคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือนำเสนอผลงานมาเองต้องมั่นใจว่าหน้าจอใหญ่พอ ที่พวกเขาจะมองเห็นได้ชัด
- ถ้าคุณนำเสนอด้วยเอกสารแบบพิมพ์ ควรใช้บริการพิมพ์ที่มีคุณภาพเพื่อแสดงผลงานของคุณให้ดีที่สุด
4.2 ไม่พูดวกไปวนมา
พยายามใช้การอธิบายประกอบผลงานของคุณให้ตรงจุดประสงค์ และครบถ้วนสมบูรณ์แบบมากที่สุด โดยใช้องค์ประกอบต่อไปนี้ เป็นตัวช่วยได้
- สั้นกระชับได้ใจความ
- สร้างมูลค่าให้กับผลงานของตัวเอง
- ตั้งกรอบเวลาในการนำเสนอให้ชัดเจน
- แสดงให้เห็นขั้นตอนต่างๆ จนเสร็จสิ้น
- บอกว่ามีใครบ้างที่ร่วมงานกับคุณในโครงการนี้
- วิธีทำภาพผลงานของคุณ
เคล็ดลับในการเตรียมตัวอีกอย่างหนึ่งคือ การฝึกพูดเกี่ยวกับผลงานกับเพื่อนของคุณ และฝึกการพรีเซนต์โดยวาง portfolio กลับด้านเหมือนตอนสัมภาษณ์งานจริง
4.3 ภาษากาย
ผลงานที่โดดเด่น และน่าสนใจเป็นสิ่งสำคัญในการคัดเลือกคนเข้าทำงานก็จริง แต่ว่า...ผู้สัมภาษณ์ก็ต้องดูองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย เพื่อความมั่นใจว่าคุณมีความพร้อมที่จะทำงานกับพวกเขาแล้วจริๆ และภาษากายที่คุณแสดงออกในระหว่างการสัมภาษณ์ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบร่วมในการตัดสินใจนั้น หลายคนไม่ผ่านรอบนี้เพราะความประหม่า และความไม่มั่นใจที่แสดงออกมาทางภาษากายนั่นเอง เราขอแนะนำเคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณผ่านช่วงเวลายากลำบากนั้นได้อย่างสวยงาม ดังนี้
- นั่งหลังตรง = การนั่งหลังตรงส่งผลให้บุคลิกดีคุณดูดี สง่าผ่าเผย และน่าเชื่อถือ
- สบตา = การสบตากับผู้สัมภาษณ์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสายตาสามารถบ่งบอกความรู้สึกของคู่สนทนาได้ เวลาคุณสบตาจึงควรใช้สายตาที่แฝงไปด้วยความมั่นใจแต่ไม่ก้าวร้าว
- รอยยิ้ม = การยิ้มจะทำให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟินออกมา ซึ่งจะช่วยลดระดับความเครียด ลดอาการตื่นเต้น รู้สึกผ่อนคลาย และกลับมาเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
และทั้งหมดนี้ ก็คือไอเดียสร้าง portfolio ง่าย ๆ สไตล์นักออกแบบที่เรานำมาฝาก จะเห็นว่าผลงานเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้คุณเป็นผู้ถูกเลือกได้ เพราะฝ่ายคัดสรรบุคลากรในบริษัทต่าง ๆ พวกเขาต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น วิธีนำเสนอที่ดี และน่าสนใจ มีทักษะ รวมถึงภาษากายหรือบุคลิกภาพที่ดูมั่นใจเป็นตัวของตัวเอง เพราะฉะนั้นจงนำเสนอผลงานด้วยความซื่อสัตย์ และจงนำเสนอความเป็นคุณอย่างมั่นใจที่สุด