Norman Robert Foster มักถูกเรียกว่า "ฮีโร่ของความไฮเทค"
Norman Robert Foster คือ หนึ่งในสถาปนิกและนักออกแบบชาวอังกฤษที่รู้จักกันดีและมีอิทธิพลมากที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา เขาเป็นสถาปนิกที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงในด้านการออกแบบโครงสร้างที่ทันสมัยและมีสไตล์
Norman Foster เกิดที่ Reddish เมือง Stockport แต่หลังที่เขาเกิดครอบครัวก็ย้ายไปอยู่ที่ Levenshulme แถบชนบทของ Manchester ทันที จึงเหมือนว่าเขาเกิดที่ Manchester ก็ว่าได้ พ่อแม่ของฟอสเตอร์ต้องทำงานอย่างหนักและไม่มีเวลา เขาจึงมักถูกฝากไว้กับเพื่อนบ้านหรือญาติอยู่บ่อยครั้ง แต่มีข้อดี คือ เนื่องจากพ่อของเขาทำงานที่ 'Metropolitan-Vickers' ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรรมไฟฟ้าขนาดใหญ่ จึงทำให้เขาได้ซึมซับและกระตือรือร้นในด้านงานวิศวกรรมและการออกแบบเป็นพิเศษ
ในปี 1961 เขาก็สำเร็จการศึกษา และได้รับทุนการศึกษาจาก 'Henry Fellowship' เพื่อเรียนต่อปริญญาโทที่ 'Yale School of Architecture' และที่นี่เองเขาได้พบกับRichard Rogers หนึ่งในหุ้นส่วนและผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปัตยกรรม ชื่อว่า ‘Team 4’ ซึ่งเป็นที่รู้จักในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่ในที่สุดพวกเขาก็แยกทางกันในปี 1967 และในปีเดียวกัน Foster และWendy Cheesman ภรรยาของเขาในขณะนั้นก็ได้จัดตั้ง 'Foster Associates' ในลอนดอน ซึ่งได้เปลี่ยนเป็น 'Foster + Partners' ในปี 1990 จนถึงปัจจุบัน
‘Foster Associates’ ทำงานกับโครงการทั่วทุกมุมโลก โดยเริ่มทำงานกับโครงสร้างสาธารณะขนาดใหญ่ อาคารอุตสาหกรรม โครงการเกี่ยวกับการขนส่ง และบ้านส่วนตัว แต่โครงการที่ทำให้พวกบริษัทก้าวหน้าไปอีกขั้นคือ การออกแบบสำนักงานใหญ่ของ ‘Willis Faber and Dumas’ ในเมือง Ipswich, ประเทศอังกฤษ อาคารนี้สร้างขึ้นระหว่างปี 1970 และ 1975 สำหรับบริษัทประกันภัยซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Willis Towers Watson เป็นสถานที่สำคัญที่พัฒนารูปแบบเป็นสถาปัตยกรรม 'ไฮเทค' ด้านนอกของอาคารหุ้มด้วยผนังกระจกรมควันสีเข้มถึง 890 บาน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากอาคาร ‘Daily Express’ ใน Manchester อีกทั้งในอาคารยังวางแผนผังแบบเปิด (Open floor plan) ซึ่งใหม่มากในสมัยนั้น และยังมีสวนบนดาดฟ้า โรงยิม สระว่ายน้ำ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงยกระดับการออกแบบอาคาร แต่ยังเพิ่มคุณภาพชีวิตของพนักงานอีกด้วย
โครงการที่สำคัญต่อมาของ ‘Foster Associates’ คือ ‘Sainsbury Centre for Visual Arts’ หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในวิทยาเขตของ University of East Anglia, เมือง Norwich, ประเทศอังกฤษ เป็นอาคารที่มีการสะสมศิลปะโลกไว้มากมายอาคารแห่งนี้แสดงให้เห็นถึงวิธีการทำงานที่มีลักษณะเฉพาะของ Foster ทั้งในเรื่อง "การพัฒนาการออกแบบ" และ "การออกแบบแบบบูรณาการ" ด้วยรูปทรงอาคารสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่หุ้มด้วยโครงสร้างเหล็ก มีการผสมผสานการใช้แสงธรรมชาติให้เป็นประโยชน์และการใช้งานพื้นที่ได้อย่างยืดหยุ่น สามารถมองเห็นภูมิทัศน์ภายนอกอย่างเต็มที่ ซึ่งอาคารแห่งนี้ก็ได้รับ
การขึ้นทะเบียนเป็น 'อาคารระดับ II' เช่นเดียวกัน ในเดือนธันวาคม 2012
เมื่อชื่อเสียงของเขาเติบโตขึ้น เขาจึงได้เริ่มทำงานสถาปัตยกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญทั่วโลก ผลงานที่โดดเด่น คือ อาคาร HSBC ในฮ่องกง, ‘Hong Kong International Airport (สนามบินนานาชาติฮ่องกง) ที่เกาะ Chek Lap Kok, Joslyn Art Museum ใน โอมาฮา รัฐเนแบรสกา สหรัฐอเมริกา, การฟื้นฟู 'Reichstag' ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี, Millau Viaduct (สะพานมีโย เป็นสะพานเคเบิลที่เชื่อมหุบเขาแม่น้ำทาร์นไม่ไกลจากเมืองมีโยทางตอนใต้ของฝรั่งเศส), Supreme Court Building (อาคารศาลฎีกา) ในสิงคโปร์
ในปี 1990 เขาได้รับตำแหน่งอัศวิน Knighthood ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระราชินี และในปี 1999 ได้รับเกียรติจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร แต่งตั้งให้เป็น The Lord Foster of Thames Bank เพื่อยกย่องคุณค่าของการทำงานด้านสถาปัตยกรรมของเขาอีกด้วย
นอกจากความสามารถที่น่าทึ่งแล้ว สิ่งที่ทำให้ Foster ประสบความสำเร็จคือความุ่งมั่นและรู้ว่าตัวเอง ต้องการเป็นอะไรและก้าวไปในทิศทางนั้นอย่างตั้งใจ